เคล็ดลับเพิ่มพลังสมอง

2760 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เคล็ดลับเพิ่มพลังสมอง

เคล็ดลับเพิ่มพลังสมอง

     จากภาวะทางสังคมที่มีการแข่งขันที่สูงขึ้น ปัจจัยมากมายรอบตัวที่เข้ามามีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิต จึงส่งผลให้เกิดความเครียด แต่เมื่อชีวิตเรายังคงต้องดำเนินต่อไปในทุก ๆ วัน ทำให้เกิดเป็นความเครียดสะสมขึ้นเรื่อย ๆ จนส่งผลให้ “สมองล้า” (Brain fog syndrome) การทำงานของสมองในส่วนของความจำก็จะทำงานลดลง เริ่มมีอาการ เบลอ ๆ รู้สึกไม่สดชื่น มึนหัว พอหนักขึ้นก็เริ่ม นอนไม่หลับ ปวดหัวบ่อยขึ้นและเรื้อรัง สายตาพร่ามัว ความจำระยะสั้นแย่ลง ขี้หลงขี้ลืม และหงุดหงิดง่ายขึ้น หากยังปล่อยไว้ไม่ได้รักษาก็จะเสี่ยงที่จะเกิดโรคความจำเสื่อมก่อนวัย โรคอัลไซเมอร์ และโรคพาร์กินสันได้

     อาการ “สมองล้า” เป็นภาวะหนึ่งที่เกิดขึ้นกับสมอง มีผลมาจากความเครียดที่สะสมจากการใช้งานสมองอย่างหนักเป็นระยะเวลานาน ส่วนหนึ่งเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันอย่าง การพักผ่อนน้อย การนอนดึก การทำงานโต้รุ่ง การเร่งทำงานให้เสร็จทันเวลา หรือแม้กระทั่งการใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ๆ พฤติกรรมเหล่านี้เป็นสิ่งกระตุ้นให้สารเคมีในสมอง หรือที่เรียกว่าสารสื่อประสาท ที่ทำหน้าที่เชื่อมต่อข้อมูลระหว่างเซลล์ประสาททำงานลดลงและเสียสมดุล สมองจึงทำงานได้น้อยลงและเกิดเป็นอาการต่างตามที่กล่าวข้างต้น วันนี้เราจึงมาแนะนำตัวช่วยดี ๆ จากธรรมชาติ ที่ปลอดภัยกับร่างกายมาเป็นตัวเสริม และเพิ่มพลังสมองอย่าง “แปะก๊วย” มาฝาก

     “แปะก๊วย” (Ginkgo biloba L.) หรือ “สารสกัดจากใบแปะก๊วย” พืชใบสีเขียวที่มีสรรพคุณมากมายหลายด้าน มีสารสำคัญหลักอย่าง สารเทอร์พีนอยด์ (Terpinoidal compounds) ได้แก่ ไบโลบาไลด์ (Bilobalide) ไดเทอร์ปีนแลคโตน 5 ชนิด ที่รวมตัวกันเรียก กิงโกไลต์ (Ginkgolides) และสารฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) จึงทำให้สารสกัดจากใบแปะก๊วย มีคุณสมบัติสำคัญมากมายที่ไม่ใช่แค่เพียงเพิ่มพลังและบำรุงสมอง แต่ยังสามารถช่วยฟื้นฟูระบบภายในของร่างกายให้กลับมาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จนได้รับการยอมรับและในบางประเทศมีการประกาศให้แปะก๊วยเป็นตัวยาที่แพทย์แผนปัจจุบันมีการสั่งจ่ายในการรักษา อีกทั้งยังมีศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสารสกัดใบแปะก๊วยถึงผลในการรักษามากมาย อย่าง

     - ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant activity) ที่มีการศึกษาฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดจากใบแปะก๊วย พบว่า สามารถช่วยลดปริมาณการผลิตอนุมูลอิสระ ป้องกัน LDL จากภาวะเครียด ป้องกันเม็ดเลือดแดงจาก EGB-761 สารที่ทำลายเซลล์ประสาท และยังป้องกันจอตา (Retina) จากความเสื่อมของเซลล์ประสาท

     - ฤทธิ์การไหลเวียนของโลหิตไปยังสมอง (Cerebral blood flow increase) จากการศึกษาพบว่า ผู้ที่ได้รับสารสกัดใบแปะก๊วยขนาด 120-300 มิลลิกรัม/คน/วัน เป็นเวลา 4-12 สัปดาห์ มีผลเพิ่มปริมาณโลหิตที่ไปเลี้ยงสมอง ทำให้อาการต่าง ๆ ที่เกิดจากโลหิตไปเลี้ยงสองไม่เพียงพอดีขึ้นภายใน 4 สัปดาห์ และหลังจากรับประทานต่อเนื่อง 12 สัปดาห์ อาการดีขึ้นชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก และจากการศึกษากับกลุ่มผู้ป่วยโลหิตไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ จำนวน 90 คน โดยให้รับประทานสารสกัดใบแปะก๊วยขนาด 150 มิลลิกรัม/วัน  เป็นเวลา 12 สัปดาห์ พบว่า ผู้ป่วยมีความจำดีขึ้น ระยะเวลาของความตั้งใจใจการทำงานเพิ่มขึ้น ความสามารถในการทำงานต่าง ๆ ที่ต้องใช้การปรับตัว และการตัดสินใจที่รวดเร็วดีขึ้น

     - ฤทธิ์ที่ช่วยให้ความจำดีขึ้น (Memory enhancement effect) โดยการศึกษาฤทธิ์ที่ช่วยให้ความจำดีขึ้นในผู้ป่วยสูงอายุ 18 คน ที่มีภาวะความจำเสื่อมจากความชรา พบว่า เมื่อผู้ป่วยรับประทานสารสกัดจากใบแปะก๊วยขนาด 320 มิลลิกรัม/คน สามารถช่วยให้ความจำของผู้ป่วยดีขึ้น

     นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาอีกมากมายไม่ว่าจะเป็น การศึกษาฤทธิ์กระตุ้นระบบไหลเวียนโลหิต การศึกษาฤทธิ์ในการเพิ่มความสามารถในการเรียนรู้ และการศึกษาฤทธิ์เพิ่มการมองเห็น ฯลฯ มีผลไปในทิศทางเดียวกัน คือมีผลดีขึ้นเพิ่มเติมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ อีกทั้งสารสกัดจากใบแปะก๊วยยังมีสารสำคัญอย่าง เอเชียติโคไซค์ (Asiaticoside) เอเชียติคแอซิค (Aisatic Acid) และบลามิโนไซด์ (Brahimnoside) ที่ช่วยเข้าไปยับยั้งการสร้างสารที่ทำลายเซลล์สมอง ลดความเครียดของสมองจากการทำงานหนัก และช่วยเพิ่มความสามารถในการทำงานของกำลังสมองอีกด้วย

     การดูแลรักษาฟื้นฟูสมองด้วยการปรับการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย หรือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอาจยังไม่เพียงพอต่อการรักษาฟื้นฟู เนื่องจากสิ่งต่าง ๆ ภายนอกไม่ว่าจะเป็น คลื่นแม่เหล็กจาก คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ที่เข้าไปรบกวนสารสื่อประสาท ความเครียดที่เกิดโดยที่เราเองก็ไม่รู้ตัว การนอนดึก การนอนไม่เพียงพอ การที่ขาดการออกกำลังกาย ที่ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองลดลง การที่ร่างกายได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ และการที่ร่างกายได้รับสารพิษจากมลภวะ สารเคมีจากอาหาร หรือสิ่งปนเปื้อนที่ปนมากับอากาศ ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่มีผลกระทบที่มีผลต่อสมองที่ยากจะหลีกเลี่ยง ได้การเพิ่มตัวช่วยเข้ามาช่วยเพิ่มพลังสมองจึงสำคัญอย่างมากเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีในระยะยาว

แหล่งอ้างอิงโดย

     1. บทความวิชาการ, “แปะก๊วย” สมุนไพรรักษาความจำเสื่อม, พิชานันท์ ลีแก้ว, ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องทางเภสัชศาสตร์, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

     2. บทความสุขภาพน่ารู้, แปะก๊วยช่วยยับยั้งความเสื่อมของสมองและต้านอนุมูลอิสระ, ภก.สุดเหมือนฝัน ธนธัญญา, นิตรยาสารหมอชาวบ้าน เล่ม304

     3. รายงานความก้าวหน้าครั้งที่ 3, บทที่ 56 รายละเอียดข้อมูลยาทางชีวภาพแปะก๊วย (Ginkgo), โครงการเพิ่มศักยภาพฐานข้อมูลอุตสาหกรรมยาทางชีวภาพและเชื้อเพลิงชีวภาพ, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

     4. บทความผลงานทางวิชาการ, Ginkgo Biloba, ภก.พีรวัฒน์ จินาทองไทย, ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ, คณะเภสัชศาสตร์, ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

เรียงข้อมูลโดย ไทย เฮลท์ โปรดักส์ (THP)

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้